วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

หน้าแรก

https://www.youtube.com/watch?v=nYuZKBKXD0U
ประวัติความเป็นมา
      วิทยาการทางด้านดาราศาสตร์ในปัจจุบัน มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านทฤษฎีและการสังเกตการณ์ ทางด้านทฤษฎีนั้นได้มีการพัฒนาจากแนวปรัชญาเกี่ยวกับการกำเนิดจักรวาล ผสมผสานกับวิชาวิทยาศาสตร์ต่างๆ เช่น ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา เป็นต้น ทำให้สามารถอธิบายได้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับระบบสุริยะ สภาวะทางกายภาพและเคมีของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์ การวิวัฒนาการของวัตถุท้องฟ้าชนิดต่างๆ การกำเนิดของเอกภพ ตลอดจนความเป็นไปได้ของการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และสิ่งมีชีวิตนอกพิภพ สำหรับด้านการสังเกตการณ์นับตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีกล้องดูดาว มนุษย์สามารถสร้างแผนที่ดาวและกำหนดตำแหน่งของดาวเคราะห์บนแผนที่ดาวในแต่ละวัน สามารถวัดตำแหน่งและความสว่างของดาวโดยใช้เครื่องมืออย่างง่าย ตราบจนกระทั่งกาลิเลโอ ได้สร้างกล้องดูดาวกล้องแรกขึ้นมาในโลก ปัจจุบันนักดาราศาสตร์สามารถสร้างกล้องดูดาวที่วัดคลื่นที่แผ่ออกมาในช่วงความยาวคลื่นต่างๆ เช่น ความยาวคลื่นที่ตามองเห็น คลื่นวิทยุ อุลตราไวโอเล็ต อินฟราเรด เป็นต้น ทั้งบนภาคพื้นดินและอากาศ ดังนั้นข้อมูลและความรู้ต่างๆ ทางด้านดาราศาสตร์จึงมีมากมายมหาศาล กระจัดกระจายอยู่ในแหล่งข้อมูลต่างๆ มากมายทั่วโลก
      ปัจจุบันประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของดาราศาสตร์ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่กระตุ้นให้คนมีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี องค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ทำให้คนโดยเฉพาะเยาวชน สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองในแง่ของการใช้ความคิดในเชิงเหตุผล ความคิดในเชิงสร้างสรรค์ การมีจินตนาการ การรู้จักอดทน และเป็นผู้ที่มีความรักและเห็นความสำคัญของธรรมชาติ จึงได้มีการบรรจุเนื้อหาดาราศาสตร์ในหลักสูตรมาตรฐานช่วงชั้น ที่สอดคล้องกับการจัดการศึกษาตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ภายใต้การดำเนินการของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพี่นางเธอ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้มีดำริให้เพิ่มวิชาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการเพิ่มเติม ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ อีกทั้งในปัจจุบันโรงเรียนต่างๆ มากมาย จัดให้มีชุมนุมนักดาราศาสตร์รุ่นเยาว์ในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนจัดกิจกรรม และศึกษาหาความรู้ทางด้านดาราศาสตร์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ และการแสวงหาความรู้ทางดาราศาสตร์จากประสบการณ์จริงโดยการสังเกตการณ์และการฝึกปฏิบัติการ
      ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูและนักเรียนในโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ จะต้องได้รับการอบรมความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ที่ถูกต้อง ตลอดจนมีทักษะและประสบการณ์ทางด้านการปฏิบัติการ และสังเกตการณ์ทางด้านดาราศาสตรต์ในระดับหนึ่ง และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ แหล่งสารสนเทศข้อมูลและความรู้ทางดาราศาสตร์ที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่สามารถค้นหาได้อย่างสะดวก และสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ซึ่งในปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาและองค์กรทางวิชาการหลายแห่งในประเทศไทย มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านดาราศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บุคลากรที่สำเร็จการศึกษาในโครงการ พสวท. จำนวนหนึ่ง ที่จะมาร่วมมือกันในการจัดตั้งเครือข่ายสารสนเทศทางดาราศาสตร์ ตลอดจนดำเนินการ เพื่อสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ทางดาราศาสตร์สู่โรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล
      ด้วยเหตุผลดังกล่าวสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำโครงการเครือข่ายสารสนเทศดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน โดยมีการดำเนินการจัดทำเนื้อหาความรู้ทางดาราศาสตร์ที่เหมาะสมกับการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยครูสามารถนำเอาหัวข้อและเนื้อหาไปจัดทำหลักสูตรหรือกระบวนวิชาตามมาตรฐาน และสาระการเรียนรู้ในแต่ละช่วงชั้นได้ นอกจากนี้ยังจะได้จัดเตรียมสื่อการสอนและภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ที่ถ่ายเองจากหอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ จากหอดูดาวตลอดจนสถาบันการศึกษาต่างๆเพื่อสามารถนำไปประกอบการเรียนการสอนในโรงเรียนได้ นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดตั้งกล้องดูดาวแบบ Robotic เพื่อให้บริการภาพถ่ายของวัตถุท้องฟ้าจากหอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศแก่โรงเรียนทั่วประเทศ โดยจะสามารถเปิดระบบเครือข่ายสารสนเทศดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียนได้ประมาณปลายปี พ.ศ. 2546

จุดมุ่งหมาย
      เพื่อจัดตั้งและดำเนินการ เครือข่ายสารสนเทศทางดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน โดยการให้โรงเรียนสามารถขอบริการข้อมูลทางดาราศาสตร์จากกล้องดูดาวแบบ Robotic ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 และ 0.5 เมตร ของหอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศ และจัดสร้างเว็บเพจที่รวบรวม
      (1) เนื้อหาดาราศาสตร์ที่จำเป็นสำหรับหลักสูตรมาตรฐานช่วงชั้น เรื่องโลกและอวกาศ
      (2) หนังสืออิเลกทรอนิกส์ และหรือ สารานุกรม (ภาษาไทย) ทางด้านดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน
      (3) เนื้อหาแบบฝึกหัด ภาคปฏิบัติการและภาคสังเกตการณ์ด้านดาราศาสตร์สำหรับโรงเรียน
      (4) เว็บเพจที่สำคัญทางดาราศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ
      (5) ฐานข้อมูลภาพถ่ายและซอฟแวร์ทางด้านดาราศาสตร์
      (6) Web-board และ ถาม- ตอบทางดาราศาสตร์

     นอกจากนี้ ยังต้องมีการอบรมครูให้มีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาวิชาดาราศาสตร์อย่างถูกต้อง มีประสบการณ์ในการสังเกตการณ์และฝึกปฏิบัติทางดาราศาสตร์ และฝึกใช้เครือข่ายสารสนเทศทางดาราศาสตร์